โรคซึมเศร้าหลังคลอดคืออะไร?

การได้เป็นพ่อแม่มักป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยินดี แต่ก็อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้มาก โดยเฉพาะสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่

หากคุณแม่รู้สึกเศร้า โดดเดี่ยว มีอารมณ์ขึ้นลงอย่างรุนแรง หรือร้องไห้บ่อย ๆ คุณอาจมีอาการที่เรียกว่าโรคซึมเศร้าหลังคลอด

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) คืออะไร

โรคซึมเศร้าหลังคลอดเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคซึมเศร้าที่เกิดกับคุณแม่หลังคลอดประมาณ 1 ใน 10 คน ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  

ผู้เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดจะมีความรู้สึกอย่างรุนแรง เช่นเศร้า โดดเดี่ยว อารมณ์แปรปรวนหรือความคิดหมกมุ่นที่จะทำร้ายตนเองหรือลูก

โรคซึมเศร้าหลังคลอดกับเบบี้บลูส์ต่างกันอย่างไร

มากกว่าครึ่งของคุณแม่มือใหม่จะมีอาการเบบี้บลูส์หลังคลอด และประมาณ 15% จะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด ทั้งสองแบบจะมีอาการที่แสดงออกมาคล้ายกันดังต่อไปนี้

●         ร้องไห้บ่อย ๆ โดยไม่มีสาเหตุ

●         ความรู้สึกเศร้า หรือรู้สึกท่วมท้น

●         ไม่อยากอาหาร

●         มีปัญหาในการนอนหลับ

●         อารมณ์แปรปรวน

อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอดจะรุนแรงกว่า โดยมีอารมณ์ขึ้นลงสลับกัน ร้องไห้บ่อย ๆ หงุดหงิดง่ายและเหนื่อยล้า นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกผิด วิตกกังวล และไม่สามารถดูแลทารกและตัวเองได้

อาการทั้งสองแบบมักเริ่มแสดงออกในสัปดาห์แรกหลังคลอด แต่อาการเบบี้บลูส์มักหายไปได้เองภายในสองสัปดาห์โดยไม่ต้องรักษา โรคซึมเศร้าหลังคลอดอาจมีอาการเป็นเดือน ๆ และอาจไม่สามารถหายได้จนกว่าจะได้รับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ

โรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร?

โดยพื้นฐานแล้วโรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานในร่างกาย ซึ่งการตั้งครรภ์และการคลอดทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ปริมาณเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสืบพันธุ์ของเพศหญิงจะเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าระหว่างการตั้งครรภ์ และจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังการคลอด โดยฮอร์โมนจะลดลงเท่าก่อนตั้งครรภ์ภายใน 3 วันหลังคลอด

โดยทั่วไปแล้วโรคซึมเศร้าหลังคลอดมักเกิดในช่วง 4 วันหลังการคลอด ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนที่กล่าวมา

ความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอด

นักวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าโรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้:

●      ประวัติการเป็นโรคซึมเศร้า หรือประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า หรือกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (premenstrual dysphoric disorder)

●         ปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เช่น ปัญหาทางสุขภาพ คลอดลำบาก หรือคลอดก่อนกำหนด

●         อายุต่ำกว่า 20 ปีหรือเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว

●         มีทารกที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ หรือทารกที่ร้องไห้บ่อย

●         ปัญหาชีวิตคู่ หรือความขัดแย้งในความสัมพันธ์

●         ขาดกำลังใจจากสังคมรอบข้าง

●         รู้สึกไม่แน่ใจกับการตั้งครรภ์

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด

คุณมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดหากมีอาการต่อไปนี้หลังการคลอด และอาการคงอยู่มากกว่า 2 สัปดาห์:

●         รู้สึกเศร้าตลอดทั้งวัน

●         ร้องไห้บ่อย

●         ทานอาหารมากเกินไป หรือน้อยเกินไป

นอนมากไปหรือน้อยไป

●         ปลีกตัวออกจากครอบครัวและเพื่อนฝูง

●         รู้สึกไม่มีความสัมพันธ์กับลูก

●         มีปัญหาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการดูแลลูก

●         มีความรู้สึกผิด

●         กลัวจะเป็นแม่ที่ไม่ดี

●         กลัวอย่างมากที่จะทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายทารก

 

หากมีความรู้สึกเหล่านี้ควรขอความช่วยเหลือทันที โรคซึมเศร้าหลังคลอดไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับคุณแม่ แต่จะส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย สมอง และจิตใจของลูกอีกด้วย ควรปรึกษาคนที่คุณไว้ใจหรือขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ โปรดทราบว่าโรคซึมเศร้าหลังคลอดสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาหรือการรับคำปรึกษา ถึงแม้จะอยู่ในช่วงให้นมลูกก็ตาม

ขอขอบคุณ
บทความเกี่ยวกับสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดนี้ถูกจัดทำขึ้นจากการร่วมมือและการสนับสนุนจาก Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation และ Mali Family Health เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อ

รับรองโดย
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต)

  • ● Postpartum Depression Screening, Medline Plus https://medlineplus.gov/lab-tests/postpartum-depression-screening/

    ● Postpartum Depression Test (New & Expecting Parents), Mental Health America https://screening.mhanational.org/screening-tools/postpartum-depression/

    ● DEPRESSION DURING PREGNANCY & POSTPARTUM, Postpartum Support International https://www.postpartum.net/learn-more/depression/

    ● Postpartum depression, Mayo Clinic https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/postpartum-depression/symptoms-causes/syc-20376617

    ● Postpartum depression, WebMD https://www.webmd.com/depression/guide/postpartum-depression

    ● Postpartum depression, Cleavland Clinic https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9312-postpartum-depression