ภาวะโรคจิตหลังคลอด (“PPP”)

ภาวะโรคจิตหลังคลอดเป็นอาการทางจิตเวชขั้นรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน

คุณแม่ 1 - 2 คนจาก 1,000 คนจะมีโอกาสเป็นโรคนี้และจะต้องการการสนับสนุนทางจิตใจหลังคลอด

ภาวะโรคจิตหลังคลอดคืออะไร

ภาวะโรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) คือความผิดปกติทางจิตเวชขั้นรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ฉับพลันหลังการคลอดบุตร มีลักษณะเด่นคือเกิดอาการสับสน หลงผิด ประสาทหลอน มีอารมณ์รุนแรง และอาจใช้ความรุนแรงได้ อาการอาจเกิดภายในสองสามวันไปจนถึงหลายสัปดาห์หลังการคลอด อาการอาจมีหลากหลายและอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

อาการของภาวะโรคจิตหลังคลอด

คุณแม่แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันไป โดยทั่วไปแล้วมีดังนี้:
●         ประสาทหลอน เช่นมองเห็น ดมกลิ่น รู้สึก หรือได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง
●         หลงผิด คือมีความคิดหรือความเชื่อที่ไม่เป็นความจริง เช่นคิดว่าคนอื่น ๆ จะทำร้ายลูก
●         อารมณ์คึกคัก เช่น พูดเร็ว คิดมาก หรือคิดเร็วเกินไป
●         อารมณ์เศร้า หมดแรง เช่นอารมณ์ซึมเศร้า ปลีกตัว ร้องไห้ หมดเรี่ยวแรง หรือมีปัญหาในการนอนหลับ
●         มีอารมณ์คึกคักและอารมณ์ซึมเศร้าสลับกันไป หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
●         ขาดความยับยั้งชั่งใจ
●         รู้สึกหวาดระแวง เช่นสงสัยผู้อื่น หรือรู้สึกหวาดกลัว
●         อยู่ไม่สุข
●         นอนไม่หลับ
●         รู้สึกหวาดกลัวอย่างมากว่าตนเองจะเป็นแม่ที่ไม่ดี
●         รู้สึกมึนงงอย่างมาก
●         สับสน เช่น ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เวลาเท่าไร
●         รู้สึกไม่ผูกพันกับทารก
●         ความคิดรุนแรง เช่น ได้ยินเสียงบอกให้ทำร้ายลูก
● มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

สาเหตุของภาวะโรคจิตหลังคลอด

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าภาวะโรคจิตหลังคลอดเกิดจากอะไร แต่มีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนครั้งใหญ่หลังคลอดอาจเป็นตัวกระตุ้น

สิ่งที่เราทราบคือภาวะนี้ไม่ใช่ความผิดของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นอาการต่าง ๆ หรือความคิดอยากทำร้ายลูก แต่อาการเกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย (พันธุกรรม) รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม (สถานการณ์ของคุณแม่มือใหม่)

ปัจจัยเสี่ยง

มีปัจจัยบางประการที่ทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงต่อภาวะโรคจิตหลังคลอดมากขึ้นดังนี้:
●         การได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์ หรือโรคจิตเภท
●         ประวัติคนในครอบครัวมีความผิดปกติทางจิต โดยเฉพาะภาวะโรคจิตหลังคลอด (ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะไม่เคยมีประวัติความผิดปกติทางจิตมาก่อน)
●         การได้รับวินิจฉัยว่ามีภาวะโรคจิตหลังคลอดจากการคลอดครั้งก่อนหน้า
●         ประวัติการใช้ยาเสพติด
●         เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน
●         เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก
●         มีน้ำนมไม่เพียงพอ
มีปัญหาในการนอนหลับ

เมื่อไรที่ควรพบแพทย์

ภาวะโรคจิตหลังคลอดเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาการอาจแย่ลงอย่างรวดเร็วและเสี่ยงต่อความปลอดภัยของแม่และลูก หากคุณมีอาการต่าง ๆ ที่เข้าข่าย หรือรู้จักคนที่มีอาการเหล่านี้ควรติดต่อแพทย์ทันที หากยังไม่สามารถติดต่อแพทย์หรือไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรอาจติดต่อสายด่วนสุขภาพจิตได้ที่เบอร์โทร 1323

นอกจากนี้ควรแจ้งให้ครอบครัว คู่ครอง หรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ทราบถึงสถานการณ์ทันที และหากลุ่มสนับสนุนสำหรับคุณแม่ที่เคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะใช้เครื่องมือคัดกรองมาตรฐาน โดยถามคำถามเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีภาวะโรคจิตหลังคลอดจริง โดยอาจถามคำถามเพื่อระบุว่าผู้ป่วยมีปัจจัยต่อไปนี้หรือไม่:

●         มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือทำร้ายลูก
●         มีประวัติโรคทางจิตเวช
●         มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช
●         มีประวัติการใช้ยาเสพติด 

แพทย์จะพยายามตัดความเป็นไปได้ของการเป็นโรคอื่น และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม เช่นฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ หรือการติดเชื้อหลังคลอด แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ปริมาณเม็ดเลือดขาว และอาจทำการทดสอบอื่น ๆ ที่อาจช่วยได้

การรักษาภาวะโรคจิตหลังคลอด

จิตแพทย์จะเป็นผู้ทำการรักษาโดยจะใช้ยาลดอาการซึมเศร้า ทำให้อารมณ์มั่นคงขึ้น และลดอาการโรคจิตลง หากผู้ป่วยยังไม่ตอบสนองต่อการรักษาก็อาจใช้การรักษาวิธีอื่น ๆ ต่อไป โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive shock therapy - ECT) เป็นการส่งกระแสไฟฟ้าในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นสมองให้ปรับสารเคมีในสมองและปรับฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ในสมอง

นอกจากการใช้ยาและใช้กระแสไฟฟ้าแล้ว อาจมีการใช้จิตบำบัดและการทำจิตบำบัดแบบกลุ่มเข้ามาช่วยเสริมด้วย

ขอขอบคุณ
บทความเกี่ยวกับสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดนี้ถูกจัดทำขึ้นจากการร่วมมือและการสนับสนุนจาก Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation และ Mali Family Health เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อ

รับรองโดย
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต)

  • ● Postpartum psychosis, NHS.uk https://www.nhs.uk/mental-health/conditions/post-partum-psychosis/

    ● Postpartum Psychosis: What It Is and What to Do About It, Grow by WebMD https://www.webmd.com/parenting/baby/postpartum-psychosis-overview

    ● Postpartum Psychosis: Symptoms and Resources, Healthline https://www.healthline.com/health/parenting/postpartum-psychosis

    ● Postpartum psychosis, Royal College of Psychiatrists https://www.rcpsych.ac.uk/mental-health/problems-disorders/postpartum-psychosis